INNOVATION
16 กันยายน 2563
“ปะการังเทียม” จากโครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา…สู่มหานที”
เมื่อปลาในทะเลไทยไร้บ้านมาดูกันสิว่า “ปะการังเทียม” จากโครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา…สู่มหานที” จะช่วยชุบชีวิตทะเลไทยได้อย่างไร

Read more

Thailand Sustainability EXPO 2020
×

“ปะการังเทียม” นวัตกรรมปูนมอร์ตาร์ รีไซเคิล ด้วย 3D Printing Technology ชิ้นแรกของโลก คิดและสร้างโดยฝีมือคนไทย
เพราะ  ‘ปะการัง’ คือ หัวใจหลักของ ระบบนิเวศน์ใต้ท้องทะเล อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด เป็นแหล่งอาหารของสัตว์เล็กน้อยใหญ่ในท้องทะเล … แต่น่าเสียดายที่จำนวนปะการังทั่วโลกและในประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะเสื่อมโทรม และลดลงเรื่อยๆ ทั้งจากการถูกทำลายโดยฝีมือมนุษย์ การปรับเปลี่ยนของสภาพอากาศ สภาวะโลกร้อน ฯลฯ

ถึงเวลาใช้พลังนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยอนุรักษ์ปะการังในท้องทะเลไทย

“ยาแรง” ในการพลิกฟื้นปัญหาปะการังเสื่อมโทรมได้อย่างเห็นผลที่สุด คือ การดูแลรักษาปะการังตามธรรมชาติที่เหลือไว้ให้ได้มากที่สุดก่อน ต่อด้วยการปลูกจิตสำนึกให้กับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว ชาวบ้าน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดให้ตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน และร่วมมือกันเพื่อหาทางแก้ปัญหา

เมื่อปลูกจิตสำนึกและรักษาสิ่งที่มีอยู่ได้แล้ว…. สเต็ปต่อไปคือ “การสร้างทดแทน” ซึ่งแนวความคิดที่ว่าสอดคล้องกับโครงการที่ทางทีมนักวิจัย กำลังศึกษาวิจัยและพัฒนา “ปะการังเทียม ที่ขึ้นรูปด้วยเทคโนโลยี 3D Printing”  พร้อมๆ กับการพัฒนา “ปูนมอร์ตาร์ที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล” เพื่อใช้เป็นโครงสร้างในการผลิตปะการังที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อโลกทั้งขบวนการผลิต และการนำไปใช้งานต่อยอดในอนาคต

โดยทางทีมนักวิจัย ได้วิจัยและพัฒนาสูตรปูนมอร์ตาร์ ที่มีองค์ประกอบจากวัสดุซีเมนต์ อาทิเช่น เศษคอนกรีตจากอาคารต่างๆ ที่ผ่านการทุบทำลาย ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อทดแทนวัสดุหินจากธรรมชาติโดยสูตรดังกล่าวสามารถทดแทนการใช้วัสดุหินธรรมชาติได้ถึง 40% และเมื่ออยู่ในรูปของปะการังเทียมแล้ว พื้นสัมผัสที่ขรุขระของซีเมนต์ยังจะช่วยก่อให้เกิดปะการังธรรมชาติปกคลุมปะการังเทียมได้เร็วกว่าวัสดุแบบเดิมที่ถูกนำมาใช้ทำเป็นปะการังเทียมอีกด้วย

สำหรับ เทคโนโลยี 3D Printing กับการขึ้นโครงสร้างปะการังเทียม : ทางทีมผู้พัฒนา ได้ให้ความเห็นถึงการเลือกใช้เทคโนโลยี 3D Printing มาประยุกต์ใช้กับโครงการนี้ไว้ว่า

“การเลือกใช้เทคโนโลยี 3D Printing สำหรับการทำปะการังเทียมนั้นถือเป็นครั้งแรกในโลกเลยกว่าได้ โดยทุกขั้นตอนการผลิตยังคำนึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นรูปแบบ 3D Extrusion Printing ซึ่งไม่ก่อให้เกิดฝุ่นระหว่างการผลิต อีกทั้งยังช่วยลดระยะเวลาในการผลิตลงได้อีกด้วย”

ในเรื่องของด้านดีไซน์และการออกแบบ : การใช้เทคโนโลยี 3D Printing มาผลิตปะการังเทียมนั้น สามารถเลียนแบบรูปทรงของปะการังโดยธรรมชาติได้คล้ายคลึงมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้เปรียบกว่าการขึ้นรูปด้วยการหล่อหรือวิธีการอื่น ๆ

โดยทางทีมนักวิจัย ได้ร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำรวจ วิจัยและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับปะการังธรรมชาติ เพื่อนำมาออกแบบปะการังเทียมจากเครื่อง 3D Printing ให้ได้ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด รวมถึงเรื่องของระบบนิเวศของแนวปะการังธรรมชาติที่ส่งผลต่อการลงเกาะของตัวอ่อนปะการังธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกับความเป็นอยู่และความชุกชุมของสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตที่เข้ามาอาศัยในอนาคตอีกด้วย แน่นอนว่าเราไม่อยากเห็นปะการังเทียมที่สวยงามอยู่ใต้ท้องทะเล แต่ต้องการให้ปะการังธรรมชาติขึ้นคลุมทับสิ่งที่มนุษย์สร้างให้ได้ไวที่สุด…

ดังนั้นเราจึงตั้งใจออกแบบปะการังเทียมซึ่งเหมือนกับจุดเริ่มต้นให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติที่สุด เพื่อให้เป็นมิตรกับสัตว์น้ำที่อยู่รอบๆ นอกจากนั้นเรายังอีกทั้งยังเลือกใช้วัสดุอย่างซีเมนต์ปูนมอร์ตาร์รีไซเคิล ซึ่งมีพื้นผิวที่เหมาะแก่การเกาะของตัวอ่อนปะการัง ตะไคร่น้ำ ฯลฯ ช่วยให้ปะการังเทียมที่เราปล่อยลงไปกลมกลืนไปกับท้องทะเล และท้ายที่สุดคือ หวังว่าท้องทะเลรวมถึงสัตว์น้ำทุกๆ ตัวจะชอบสิ่งที่เราออกแบบนี้

แม้ว่าแนวปะการังที่งดงามจากปะการังเทียมเหล่านี้อาจยังไม่เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน… แต่ความสำเร็จที่งดงามที่เกิดขึ้นแล้วนั่นก็คือการที่มนุษย์เราสามารถนำเอาเทคโนโลยี ความรู้ความสามารถที่รุดหน้า มาใช้ฟื้นฟูธรรมชาติได้อย่างน่าอัศจรรย์

Close this